การแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ ‘มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ’ เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคม ผ่านการเรียนรู้และปฎิบัติจริงในชุมชน
เริ่มจากการเฟ้นหา 5 ทีมใน 40 ทีมมาเป็นตัวแทนระดับภาค นำแนวทางการพัฒนาไปลงพื้นที่จริงเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อพัฒนาเป็นตัวต้นแบบ (Product Prototype) หรือผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เตรียมพร้อมเข้าร่วมชิงชัยในระดับประเทศซึ่งกำหนดจัดในเดือนพฤศจิกายนปลายปี
โครงการ 1 ใน 5 ของทีมสุดยอดภาคกลางที่มีไอเดียขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่น่าสนใจก็คือ โครงการพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากฐานทรัพยากรชุมชน ‘ผลไม้แปลงร่าง’ ภายใต้การนำของ ‘รศ.ดร.พัทรียา หลักเพ็ชร’ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภาคการบริการและการท่องเที่ยว คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ด้วยการนำองค์ความรู้ของการเป็นบัณฑิตวิทยาลัยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ และเทคโนโลยีการทำตลาดออนไลน์ไปวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมกับเพิ่มทักษะอาชีพให้แก่วิสาหกิจชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีอาชีพหลักการผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูป
“จากการทำผลไม้แปรรูปของชุมชนนี้ที่ใช้ผลไม้ตามฤดูกาลผ่านกรรมวิธีหมักดองและแช่อิ่มแบบธรรมชาติดั้งเดิม ได้เกิดเป็นแนวคิด ‘ผลไม้แปลงร่าง’ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากผลไม้หมักดองทั่วไปสู่ผลไม้หนึบ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการแปรรูปโดยที่ไม่ได้เสียคุณค่าในตัวผลไม้ พร้อมกับเพิ่มชนิดผลไม้ที่มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรเพื่อให้ไลน์ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น มีการปรับสูตรให้ตอบโจทย์ผู้ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพและผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ ออกแบบให้มีขนาดพอดีคำ พกพาง่าย ที่สำคัญคือรสชาติอร่อย พร้อมกับสร้างตราผลิตภัณฑ์ให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ประจำชุมชน เพิ่มช่องทางจำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตเพลส ยูทูป และเดลิเวอรี่ และกำลังจะผลักดันให้ได้รับการรับรองมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน”
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภาคการบริการและการท่องเที่ยว นิด้า เล่าว่า ได้ส่งโครงการเข้าประกวด U2T Hackathon 2021 ทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่ ตำบลไร่พัฒนาและตำบลอู่ตะเภา จังหวัดชัยนาท ส่วนในกรุงเทพฯ ก็คือแขวงนครไชยศรีกับแขวงวชิรพยาบาล โดยมี 3 โครงการ 3 ตำบลเข้ารอบเป็น 3 ใน 40 ทีมตัวแทนภาคกลางเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย และมีทีมผลไม้แปลงร่างได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ของทีมสุดยอดภาคกลาง ทุกโครงการเป็นการทำงานแบบทีมร่วมกันทั้ง 4 พื้นที่ แบ่งการทำงานอย่างชัดเจนทั้งการทำรายงาน เอกสาร การวิเคราะห์-สังเคราะห์ การบริหารจัดการส่วนกลาง และการลงพื้นที่ทำงานประชาสัมพันธ์ โดยมีการประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง
“สำหรับการแข่งขัน U2T Hackathon 2021 ระดับประเทศในอีก 2 เดือนข้างหน้า มั่นใจว่าทีมผลไม้แปลงร่างจะได้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาได้ตรงตามแผน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่ส่งผลกระทบในการทำงานพอสมควรเนื่องจากไม่สามารถรวมตัวลงพื้นที่ได้ ต้องมีการทำงานผ่านออนไลน์ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคเท่าใดนัก”
อย่างไรก็ดี เป้าหมายของโครงการผลไม้แปลงร่างก็คือต้องการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ พึ่งพาตัวเองได้ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนรายได้จากการเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและการกระจายรายได้ภายในชุมชนจากการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น โครงการยังได้แนะนำให้จัดทำบัญชีต้นทุน ระบบรายรับรายจ่าย การจัดระบบทรัพยากรต่างๆ ช่วยให้วิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนในกิจการได้
“ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องการมองเห็นอนาคตข้างหน้าที่เป็นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ ความเข้าใจ สามารถถ่ายทอดขยายผลในกระบวนการสร้างสัมมาชีพชุมชน โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาถ่ายทอดความรู้ให้ผู้นำชุมชนจนเกิดเป็นชุมชนต้นแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลจนสามารถขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ”