“1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” โครงการแห่งความ “โชคดี”ในความ “โชคร้าย”จากพิษ “โควิด-19”
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านการท่องเที่ยวไม่สามารถขายของได้ ทำให้ขาดรายได้จากตรงนี้ อีกทั้งคนในชุมชนส่วนมากเป็นคนมีอายุ เล่นมือถือไม่เป็น ไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต พวกเขาจึงไม่สามารถขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ อย่างโควิด-19 ทำให้เราได้รับผลกระทบต่างๆ มากมาย แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี ที่มีโครงการการพัฒนาชุมชน อย่างโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย และมี ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง เข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ตำบลแม่สลองนอก ซึ่งพวกเรามองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เราได้เห็นคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกันผลักดันชุมชน เราเห็นความสามัคคี ความสนใจจากคนในชุมชน และถ้าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้ ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาตำบลของตัวเอง
เป้าหมายสุดท้าย คือ “การสร้างรายได้เสริม” ให้กับคนในชุมชน
โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือ U2T เป็นโครงการที่ดี เพราะทำให้เราได้รับฟังข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้เข้าถึงองค์ความรู้ มุมมองใหม่ ๆ จากอาจารย์ที่ดูแลพื้นที่ หลังจากกิจกรรมนี้จบลง จะนำข้อมูลที่ได้จากการเข้าร่วม ไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรม และคาดหวังว่าจะเกิดประโยชน์มากมายกับชุมชน เพราะเราอยากจะพัฒนาวิสาหกิจชุมชน พัฒนาสินค้าในวิสาหกิจชุมชนของเรา ให้สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับสมาชิกได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่อยากสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจน ถ้าโครงการนี้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น เราก็หวังว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้น
คุณอมรรัตน์ รัตนาชัย
ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน นาซึขะโฮมสเตย์ บ้านจาบูสี
"ดิฉันรู้สึกดีใจที่ ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง TSI ประจำพื้นที่ ต.แม่สลองนอก และทีมงานจากโครงการ U2T โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เข้ามาให้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว เพราะแม่สลองนอก มีความโดดเด่นในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว แต่อย่างที่ทุกคนทราบ พอโควิด-19 มา ทำให้เราแทบจะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ทำ
เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านการท่องเที่ยวก็ไม่สามารถขายของ ทำให้ขาดรายได้จากตรงนี้ไป"
ความรู้สึกของตัวแทนในพื้นที่ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
ที่มีต่อโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ภายใต้การดำเนินของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ข้อมูลศักยภาพตำบล
สภาพทั่วไปของตำบลแม่สลองนอก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง มีเทือกเขาสลับซับซ้อน และมีที่ราบระหว่างเนินเขา มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียงดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ทิศใต้ ติดกับตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายทิศตะวันออก ติดกับตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันตก ติดกับประเทศพม่า ตำบลแม่สลองนอกแบ่งการปกครองออกเป็น 13 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้นจำนวน 9,477 คน เพศหญิงจำนวน 4,993 คน เพศชายจำนวน 4,484 คน
จากการร่วมประชุม/ปรึกษาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและผู้ดำเนินงานของโครงการ พบว่า ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีอยู่แล้ว 11 เป้าหมาย ทำให้ตำบลอยู่ในระดับตำบลสู่ความพอเพียง (Sufficiency) เป็นตำบลมุ่งสู่ความพอเพียงและยกระดับสู่ความยั่งยืน
โจทย์ปัญหาการพัฒนาพื้นที่
การดำเนินการเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาคนในชุมชน สร้างอาชีพ พร้อมแก้ไขปัญหาความยากจน ดังนี้
• เป้าหมายที่ 2 : ช่วยให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ
• เป้าหมายที่ 3 : ช่วยให้สามารถวิเคราะห์วิสาหกิจชุมชนและสถาบันการเงินชุมชน
• เป้าหมายที่ 4 : ช่วยในการสร้างสัมมาชีพในพื้นที่
• เป้าหมายที่ 7 : ช่วยจัดการวิสาหกิจชุมชน
• เป้าหมายที่ 13 : ส่งเสริมศูนย์เรียนรู้ตำบล
กิจกรรมการพัฒนาพื้นที่
• กิจกรรมที่ 2 จัดตั้ง "เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนแม่สลองนอก" เพื่อยกระดับกลุ่มอาชีพด้านการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
• กิจกรรมที่ 3 พัฒนาและฝึกอบรมภาวะการเป็นผู้นำชุมชน การเข้าใจในกระบวนการทำงานในชุมชน การปรับเปลี่ยน Mindset และพัฒนาทัศนคติเชิงบวก
• กิจกรรมที่ 4 การลงพื้นที่ให้ความรู้และวางระบบการจัดการความปลอดภัยด้านสุขภาวะและสุขอนามัย (Health Care) เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
• กิจกรรมที่ 5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างชุมชนแม่สลองนอกและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงโครงการหลวงแม่สลอง จังหวัดเชียงราย
• กิจกรรมที่ 6 พัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชน เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพและการส่งเสริมอาชีพใหม่ด้านการท่องเที่ยว
ภาคี
• องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
• กลุ่มสังคม
• องค์กรชุมชน (กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ สถาบันการเงิน ชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ วิสาหกิจชุมชน และอื่นๆ)
• หน่วยงานรัฐ
อาจารย์ที่ปรึกษาประจำพื้นที่
ศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง คณะการจัดการการท่องเที่ยว