NEWS&EVENT

 

“การทำงานร่วมกัน” ระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน “การเรียนรู้ร่วมกัน”

“การทำงานร่วมกัน” ระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน “การเรียนรู้ร่วมกัน”
คุณสุนีพร หลี่จ่า ผู้รับจ้างประจำพื้นที่ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ประเภท ประชาชนในพื้นที่

โครงการนี้เป็นเหมือนการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แต่การทำงานในช่วง 2-3 เดือนแรก เราพบปัญหาหลายอย่างที่ไม่สามารถควบคุมไม่ได้ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งชุมชนแม่สลองนอกที่ทำเรื่องการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดและถือเป็นข้อดีในเวลานี้คือ เรามีเวลาที่จะมาช่วยกันพัฒนาในสิ่งที่เราขาด หรือจุดบกพร่อง

การดำเนินการจากโครงการจะเข้ามาช่วยเสริม และช่วยให้เกิดการเรียนรู้แก่คนในชุมชน ที่ต้องมีการปรับระบบการทำงานเรื่องการท่องเที่ยวของชุมชน ว่า“ตอนนี้มีการแพร่ระบาดของโรค ชุมชนจะมีการปรับตัวการท่องเที่ยวอย่างไร มีมาตรฐานอย่างไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ ปลอดภัย” ซึ่งในตอนนี้ชุมชนได้มีการเรียนรู้ในเรื่องนี้ และกำลังปรับมาตรฐานของชุมชนให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

เราลงพื้นที่ “พูดคุย” กับวิสาหกิจชุมชนเพื่อ “สร้าง”ความมั่นใจ และพัฒนาของดีที่มีอยู่
จากการที่ทีมงานเราได้เข้าประชุม เข้าร่วมอบรมต่าง ๆ รวมทั้งลงพื้นที่ พูดคุยกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเล็ก ๆ เป็นการสร้างความมั่นใจ และช่วยพัฒนาของดีที่เขามีอยู่ เช่น ผลิตภัณฑ์ในชุมชน จุดท่องเที่ยว จุดเด่นของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการปรับตัวในช่วงโควิดว่าช่วงนี้มีการปรับตัวอย่างไร
เราพยายามที่จะให้คนในชุมชนรวมถึงวิสาหกิจ มาดูว่าสิ่งที่มีอยู่เป็นอย่างไร ให้ชาวบ้านได้มีเวลากลับคิดว่า ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ อะไรคือสิ่งที่เรายังขาดอยู่ หรือศักยภาพอะไรที่เรามีอยู่ เพื่อที่จะทำให้เกิดการปรับชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ซึ่งตอนนี้หน้าที่หลักในการดำเนินโครงการของทีมงานคือการมีส่วนในการที่จะพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีอยู่แล้ว ที่ปกติมักจะขายได้ในเวลาที่มีนักท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ไม่สามารถขายได้ด้วยลักษณะที่นักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่เพื่อไปซื้อผลิตภัณฑ์ ทีมงานเราก็จะช่วยในการทำตลาดออนไลน์


การมีประสบการณ์ในชุมชน “เกิด” และ “เติบโต” ในชุมชนทำให้เรามองเห็นภาพชุมชนที่ “ชัดเจน”
ดิฉันคือกลุ่มของประชาชนในพื้นที่ ที่มีประสบการณ์ในชุมชน เกิดและเติบโตในชุมชน ที่เข้ามาทำงานในโครงการนี้ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับนักศึกษา หรือ บัณฑิตจบใหม่ จึงเป็นเหมือนผู้สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม หรือการเรียนรู้ร่วมกัน
กลุ่มนักศึกษาที่เข้ามามีส่วนร่วม คือ กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ จะได้เรียนรู้ว่าชุมชนมีจุดเด่นอะไรบ้าง มีอะไรที่ดี อะไรที่จะต้องพัฒนา ซึ่งดิฉันในฐานะประชาชนในพื้นที่จึงได้ให้มุมมอง ต่อผู้ที่เข้ามาทำงานให้แก่ชุมชน เพื่อร่วมกันคิดและพัฒนาว่าเราจะทำอย่างไร ให้ชุมชนได้เข้าไปเรียนรู้กับกลุ่มที่เข้ามาทำงานให้มากที่สุด โดยเราเป็นผู้ประสานงานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างตัวโครงการกับชุมชน สร้างกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคนในชุมชน เพื่อให้เกิดภาพการพัฒนาที่ชัดเจน
ที่ผ่านมาการทำงานด้านการท่องเที่ยวของตำบลแม่สลองนอก จะถูกมองเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้น ดังนั้นในฐานะคนในชุมชนที่ทำงานให้ชุมชนจึงมองว่า รอบชุมชนของเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 7 ชาติพันธุ์ เราจะทำอย่างไร ให้เกิดกระจายการเรียนรู้ร่วมกัน และทำให้คนในชุมชนโดยรอบเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานี้ได้


"ในมุมมองของผู้รับจ้างของโครงการในพื้นที่ รู้สึกดีใจ ที่โครงการนี้เกิดขึ้น ภูมิใจที่ได้มีโอกาสดึงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ ให้ได้รับการพัฒนาและดีใจที่ทำให้ชุมชนรอบนอกที่ไม่ใช่แค่แม่สลองนอกและไม่ได้ทำการท่องเที่ยว ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา รวมทั้งได้สร้างกระบวนการการเรียนรู้กับกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยตรง"

ความรู้สึกของผู้รับจ้างประจำพื้นที่ (ประชาชนในพื้นที่)
ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
ที่มีต่อโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล
ภายใต้การดำเนินของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)