NEWS&EVENT

 

“วัฒนธรรม” นำ “รายได้” ให้ชุมชนชูประเพณี “กวนข้าวทิพย์”สู่สินค้า “OTOP”

“วัฒนธรรม” นำ “รายได้” ให้ชุมชนชูประเพณี “กวนข้าวทิพย์”สู่สินค้า “OTOP”
นางสาวณภัทร นาคปานเสือ บัณฑิตผู้ถูกจ้างงาน ประจำพื้นที่ ต.เสือโฮก อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท
โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ภายใต้การดำเนินของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ประเพณีกวนข้าวมธุปายาธ (กวนข้าวทิพย์) ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ประจำตำบลเสือโฮก อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ที่มีชื่อเสียงและจัดทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 จนถึงปัจจุบัน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี ณ วัดหนองพังนาคหมู่ที่ 7 เพื่อถวายในวันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม)

“ข้าวมธุปายาธหรือข้าวทิพย์” แห่งวัดหนองพังนาค ตำบลเสือโฮก จังหวัดชัยนาท ยังถูกกล่าวขานว่า “เป็นข้าวทิพย์ที่มีรสชาติดีที่สุด” เนื่องจากวัตถุดิบในการทำข้าวทิพย์นั้นเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ 100% โดยการเก็บรวบรวมวัตถุดิบจากคนในชุมชนหาเองแล้วนำมารวมกันเพื่อทำข้าวทิพย์ในทุก ๆ ปี ทำให้รสชาติออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใครได้ลองทานก็ต่างติดใจ

เพื่อให้คนในทุกพื้นที่ได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติของข้าวทิพย์ที่ดีที่สุด จากตำบลเสือโฮก จังหวัดชัยนาท ทีมงานผู้ถูกจ้างงานจากโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) ภายใต้การดำเนินการของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาข้าวทิพย์นี้ขึ้นมาเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบลเสือโฮก เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่ชื่อเสียงของตำบลเสือโฮกให้คนทั่วไปได้รู้จักและจดจำมากขึ้น


ต่อยอด “ไอเดีย” เตาเผาถ่านลดการเผา “คุณภาพชีวิต”คนในชุมชน

นอกจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนในตำบลแล้ว “การเผาถ่าน” เป็น 1 ในกิจกรรมเพื่อการเกษตรของคนในชุมชน ที่นิยมทำกันเป็นประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การทำกิจกรรมเหล่านี้มาเป็นเวลานานทำให้เกิดเป็นมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพของคนในชุมชนย่ำแย่ลง เพราะในการเผาถ่านแต่ละครั้งทำให้เกิดกลุ่มควันเป็นจำนวนมาก

จากปัญหาที่เกิดขึ้นและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ทีมงานจึงได้วางแผนการลดมลพิษทางอากาศเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีขึ้นให้แก่คนในชุมชน โดยเริ่มทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเผาถ่านอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเกิดมลพิษน้อยที่สุด ทำให้ได้พบกับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “เตาเผาถ่าน” ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นไอเดียมาจากหมู่บ้านผาปัง ที่เป็นผู้คิดค้นเตาดังกล่าว ทางทีมงานจึงได้เชิญชาวบ้านมาเรียนรู้การเผาถ่านจากเตา เผาถ่านประสิทธิภาพสูง และสร้างเตาเผาถ่านร่วมกัน นอกจากนี้ทีมงานยังร่วมมือกันสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับการเผาที่จะทำให้ถ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และประหยัดพื้นที่รวมถึงลดมลพิษกว่าเตาปกติให้แก่คนในชุมชน


เข้าใจ “ธรรมชาติ” สานต่อซุ้ม “ไผ่” “กิน” ก็ได้ “สูด” อากาศหายใจก็ดี

พื้นที่วัดหนองพังนาค เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นไผ่ไว้หลากหลายพันธุ์ โดยเจตนารมณ์ของหลวงพ่อบุญมี อดีตเจ้าอาวาส (ปัจจุบันท่านได้มรณภาพแล้ว) ที่ต้องการปลูกต้นไผ่ไว้เพื่อแบ่งให้คนในชุมชนได้นำหน่อไม้ไปรับประทาน จากเจตนารมณ์ของหลวงพ่อบุญมีประกอบกับคุณสมบัติทางธรรมชาติของต้นไผ่ ที่สามารถผลิตออกซิเจนได้เป็นจำนวนมาก และทำให้อากาศเย็นสบาย เพราะลำไผ่สามารถอุ้มน้ำได้ ทางทีมงานจึงเห็นควรว่าจะสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้ และจะทำการพัฒนาพื้นที่ พร้อมปลูกต้นไผ่เพิ่ม เพื่อจัดทำสถานที่ดังกล่าวให้เป็นซุ้มไผ่สำหรับการเดินจงกลมเมื่อมีประชาชนมาปฎิบัติธรรม ณ วัดหนองพังนาค

การมรณภาพของอดีตเจ้าอาวาสวัดหนองพังนาค ที่เป็นดั่งผู้ชี้ช่องทางการพัฒนาด้วย เจตนารมณ์อันงดงามที่ต้องการช่วยเหลือคนในชุมชน ทำให้ทางวัดมีแนวคิดจะสร้างมณฑปทับกองกระดูกที่เผาท่าน ทีมงานจึงมองเห็นโอกาสว่านั่นอาจเป็นศาสนสถานที่สวยงามแห่งใหม่ของวัดหนองพังนาค นอกจากนี้ทีมงานจะดำเนินการปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ ด้วยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ เพื่อความสวยงามเมื่อมีประชาชนมาเข้าชมศาสนสถานดังกล่าวต่อไป


ความรู้สึกของ น.ส.ณภัทร นาคปานเสือ
บัณฑิตผู้ถูกจ้างงาน ประจำพื้นที่ ต.เสือโฮก อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาทโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
"รู้สึกดีใจที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น ทำให้พวกเรามีงานทำ และได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบลของเรา ซึ่งโอกาสที่จะได้ทำเพื่อตำบลของเรามันน้อยมาก แต่โครงการนี้ทำให้พวกเรามีโอกาสนั้น การดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ทำให้เรารู้สึกมั่นใจว่าเราจะมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาตำบลได้จริง นิด้าทำให้เรามีความน่าเชื่อถือเมื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้งานของเราดำเนินไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น"