ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นราบลุ่มเป็นส่วนมาก จึงทำให้ “บางตาเถร” เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผักหรือปลานานาชนิด โดยชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านมีองค์ความรู้ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในเรื่องของการทำสินค้าแปรรูปที่มีความโดดเด่นและเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะการแปรรูปปลา เช่น การหมักปลาร้า ปลาร้าสับ น้ำพริกปลาร้าหรือปลาสลิดแดดเดียว เป็นต้น
ด้วยจุดเด่นของบางตาเถร ประกอบกับองค์ความรู้ด้านการทำสินค้าแปรรูปของคนในชุมชน ทำให้ทีมงานได้เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก “ปลา” อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำของชาวบางตาเถร ซึ่งในการดำเนินการนี้คือการแก้โจทย์ในปัญหาของเรื่องปลา ที่เราจะต้องช่วยแก้ปัญหาทั้งในมุมมองของผู้ผลิตและมุมมองของผู้บริโภคว่า “จะทำอย่างไรให้สินค้าจากปลา สามารถพัฒนาต่อไปได้ และสามารถสร้างการรับรู้ในสินค้าที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดคุณค่าในระยะยาวและยั่งยืนต่อไป”
5 Prototype* ต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก “ปลา”
1. การทำมุ้งตากปลาเค็มแดดเดียวที่มีกระบวนการป้องกันแมลงวันทั้งจากแหล่งผลิตและหน้าร้าน
2. ผลิตภัณฑ์ปลาเค็มแดดเดียว ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ป้องกันกลิ่นเป็นแบบถุงสุญญากาศ มีซิปล็อคในตัว
3. ปลาเค็มแดดเดียวรูปแบบเค็มน้อย (Low Sodium) โดยการันตีค่าโซเดียมที่เหมาะสมจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง
4. ปลาเค็มแดดเดียวทอดสำเร็จรูป พร้อมบรรจุภัณฑ์ถุงสุญญากาศ
5. การเพิ่มช่องทางการขายในออนไลน์ เช่น กลุ่มผูกปิ่นโต
U2T พัฒนา “ชุมชน” ควบคู่การพัฒนา “ตนเอง”
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อชุมชน ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) โครงการที่สร้างอนาคตให้กับ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างอนาคต สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาและประชาชน 60,000 คน ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จ้างงาน ได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจต่อชุมชน รวมถึงความภาคภูมิใจต่อตนเองที่ได้นำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีมาใช้ในการพัฒนาชุมชน โดยมีความมุ่งหวังอยากให้สิ่งที่ดำเนินงานมาเป็นต้นแบบเพื่อชุมชนสำเร็จลุล่วง และสร้างมาตรฐานของสินค้าได้ในอนาคต รวมทั้งคนในชุมชนจะมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น
นอกจากนี้โครงการ U2T ยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจ้างงานได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ จากทาง Thai MOOC และ SET ทำให้ได้รับความรู้ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และทำให้รู้เท่าทันสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเป็นอีก 1 อย่างที่ช่วยในการพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความรู้สึกของตัวแทนในพื้นที่ต.บางตาเถร อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีที่มีต่อโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลภายใต้การดำเนินของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
"อยากให้โครงการที่ทำอยู่สำเร็จเพื่อเป็นต้นแบบและสร้างมาตรฐานของสินค้าได้ในอนาคต"
"รู้สึกเป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์ตรงในด้านต่าง ๆ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด อย่างถูกต้อง แม่นยำ ก่อให้เกิดผลสำเร็จแก่ทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม"
"รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น และได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกฝนในการเข้าอบรมออนไลน์ 4 หลักสูตรที่กระทรวงอุดมศึกษาฯ กำหนดให้เรียน ทำให้รู้จักโครงการ Thai MOOC และ Set และได้รับความรู้ในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมมากมาย รู้เท่าทันสังคมที่มีความแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เป็นการพัฒนาตนเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"