NEWS&EVENT

 

“นิด้า • วังทองหลาง” ร่วมสร้าง “สุขภาวะสีเขียว” ไปด้วยกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณพงศ์ นพเกตุ
อาจารย์ประจำคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม TSI ผู้รับผิดชอบโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T NIDA) แขวง/เขตวังทองหลาง
"เราได้ร่วมกันหมุนเวียนของเหลือทิ้งกลับมาใช้และสร้างคุณค่า และมูลค่าใหม่อีกครั้ง เราลดภาระกรุงเทพฯ และยกระดับสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ U2T ทำให้
ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 นิด้าและชาววังทองหลาง ได้ร่วมสร้างสุขภาวะสีเขียวไปด้วยกัน"

วังทองหลางเป็นเขตติดต่อบางกะปิที่นิด้าขับเคลื่อน โครงการสกายวอล์คสกายการ์เดนและโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ชุมชนริมคลอง ศาสนาวัฒนธรรมที่หลากหลายและคนไทยจากหลายภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทำให้วังทองหลางมีสีสันไม่แพ้บางกะปิ วันนี้ชาววังทองหลาง และ U2T นิด้า ได้ร่วมแรงร่วมใจสร้าง "เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว" ได้ลดค่าใช้จ่าย-สร้างรายได้-ขยายโอกาสอาชีพเสริม โดยร่วมทำกิจกรรม 1) ส่งเสริมการนำขยะ อาหารเศษพืชผักเหลือทิ้งกลับมาทำดินและปุ๋ยอินทรีย์ 2) นำเศษผลไม้และน้ำหมักชีวภาพกลับมาทำน้ำยาซักล้างและทำความสะอาดบ้านเรือน 3) นำของเหลือทิ้งมาประดิษฐ์เป็นของใช้ ของตกแต่ง รวมถึง 4) นำเศษเปลือกผลไม้กลับมาทำ "น้ำยาล้างมือ สู้ภัย COVID-19" ทำให้คณะบริหารการพัฒนา สิ่งแวดล้อมได้ทำหน้าที่ "จิตอาสาหัวใจสีเขียว" ร่วมกับนักศึกษา บัณฑิต ประชาชนและชุมชนวังทองหลาง

เพราะเป็นคนในชุมชนจึงมองเห็น “ปัญหา”ในทุกมิติและ “สะท้อนความต้องการ”ของชุมชนได้
นางสาววันเพ็ญ หอยทอง ประชาชน ผู้รับจ้างโครงการ U2T ในพื้นที่แขวงวังทองหลาง
ดิฉันเป็นประชาชนในพื้นที่แขวงวังทองหลาง ที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานในโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” ภายใต้การดูแลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า โดยได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ประสบการณ์จากการที่ได้เข้ามาทำงานในฐานะของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตนเองได้รับรู้มาโดยตลอดว่า ชุมชนมีปัญหาด้านไหน และมีความต้องการอะไร จึงทำให้เราได้มีโอกาสแนะนำ หรือแชร์ข้อมูลปัญหาของชุมชนให้กับน้อง ๆ ที่อยู่ในทีม และในทางกลับกันก็ได้นำเอาความรู้ จากน้อง ๆ มาช่วยเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพของคนในชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เราได้พยายามช่วยกัน สานต่อ สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับชุมชน สร้างผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริม รายได้ ลดรายจ่าย ด้วยการนำขยะและสิ่งเหลือใช้กลับมาสร้างผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำหมักชีวภาพ น้ำยาล้างมือสู้ภัยโควิด-19 ตลอดจนได้ติดต่อสถานที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนด้วย
"จากการที่ได้เข้าร่วมโครงการ U2T กับทางนิด้า รู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มาก ๆ ทำให้ดิฉันซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่รู้สึกภาคภูมิใจ น้องๆ นิสิตนักศึกษาจบใหม่ ที่ยังไม่มีงานและน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ ก็ได้มีโอกาสมาฝึกประสบการณ์การทำงาน และมีรายได้ สมาชิกในชุมชนได้มีองค์ความรู้ มีอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ต้องขอขอบคุณโครงการนี้มาก ๆ ค่ะ"

“ประสบการณ์ใหม่” ที่ได้เรียนรู้ ปูเส้นทางสู่อนาคต “ผู้นำนักพัฒนา”
มีน – ธนา เดชเลย์ บัณฑิตจบใหม่ ผู้รับจ้างโครงการ U2T ในพื้นที่แขวงวังทองหลาง
สวัสดีครับ ผมชื่อ ธนา เดชเลย์ ชื่อเล่น มีน บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยเขตวังทองหลาง ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สิ่งที่ผมได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ถือเป็นประสบการณ์ที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ในเรื่องของการทำงาน การที่ต้องเข้าหาคนในชุมชน เข้าไปแนะนำตัว ทำความรู้จักกับคนในชุมชนว่าเขามีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอบรม ทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ดิจิทัล การเงิน และสังคม รวมกว่า 80 ชั่วโมง ซึ่งผมได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียน การอบรม ไปถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน เพื่อให้เขามีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะต่างๆ ได้รู้จักวิธีการคัดแยกขยะ และนำขยะที่คัดแยกมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน การทำน้ำหมักชีวภาพ น้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาชนิดต่าง ๆ ไว้ใช้ในครัวเรือนและเพื่อส่งเสริมรายได้

ผลักดันแนวคิด “รักษ์สิ่งแวดล้อม”เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “ประโยชน์”ที่สร้างรายได้
แอล - นางสาวปวีณ์นุช สุขวรรณ นักศึกษา ผู้รับจ้างโครงการ U2T ในพื้นที่แขวงวังทองหลาง
แอล เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยกับทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า การได้เข้ามาทำงานในโครงการของ U2T ทำให้แอลได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชน ได้รู้จักกับประชาชนในชุมชนมากขึ้น ได้รับรู้ถึงปัญหาจริง ๆ ของเขาว่าคืออะไร และเขาต้องการให้เราช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้าง
ทางทีม U2T วังทองหลางของเรา พยายามเข้าไปช่วยชุมชนในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการขยะ นำขยะมาแปรรูปหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำน้ำหมักชีวภาพ ทำน้ำยาอเนกประสงค์เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งล่าสุดทาง N Mark Plaza (ห้างน้อมจิตต์) ได้มาติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเลยค่ะ